สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน บทความนี้จะขอกล่าวเกี่ยวกับบทบาทของนักรังสีเทคนิคกับการใช้งานเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) โดยจะชี้ให้เห็นว่านักรังสีเทคนิคมีความสำคัญอย่างไรกับเครื่องมือชนิดนี้ ก่อนจะเข้าประเด็นผู้เขียนขอเกริ่นนำสักเล็กน้อยเกี่ยวกับเครื่องมือชนิดนี้ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจที่มาที่ไปได้มากขึ้น
เครื่อง เอ็มอาร์ไอ ถือเป็นเครื่องที่ใช้สร้างภาพทางรังสีวินิจฉัยเครื่องหนึ่ง แต่จะแตกต่างออกไปจากเครื่องเอกซเรย์ทั่วๆไปเนื่องจากเครื่องนี้ไม่ได้สร้างภาพโดยใช้รังสีเอกซฺ์ (x-ray) หรือรังสีชนิด Ionizing radiation แต่จะใช้สนามแม่เหล็กแรงสูงร่วมกับคลื่นวิทยุในการทำให้เกิดสัญญาณภาพ ดังนั้นเครื่องนี้จึงแตกต่างออกไปทั้งหลักการทางฟิสิกส์ เทคโนโลยี การใช้งาน รวมถึงการวินิจฉัยโรคจากภาพเอ็มอาร์ไอด้วย ด้วยการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการใช้งานที่ค่อนข้างจะมีความซับซ้อน เหตุนี้นักรังสีเทคนิคจึงมีบทบาทเป็นอย่างมากที่จะใช้เครื่องมือนี้ในการตรวจสแกนผู้ป่วย เพราะวิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่เชื่อมต่อระหว่างเทคโนโลยีและเทคนิคการใช้งานกับงานทางคลินิก นักรังสีเทคนิคที่จะใช้เครื่องมือชนิดนี้ในการตรวจสแกนผู้ป่วยจึงต้องผ่านการฝึกอบรมมาอย่างเพียงพอ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะได้รับความปลอดภัยจากการตรวจ รวมถึงการได้ภาพเอ็มอาร์ไอที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะนำไปใช้วินิจฉัยโดยรังสีแพทย์ต่อไป หากเครื่องเอ็มอาร์ไอถูกใช้งานโดยบุคคลที่ไม่ได้ผ่านการอบรม หรือไม่ได้เป็นนักรังสีเทคนิค มีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยจะได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะตรวจได้ เนื่องจากในอุโมงค์แม่เหล็กนั้นมีความเข้มของสนามแม่เหล็กที่สูงมาก หากการคัดกรองผู้ป่วยไม่มีประสิทธิภาพ หรือ ผู้ใช้งานเครื่องไม่เข้าใจหลักการเชิงฟิสิกส์ของเครื่องมือนี้ ผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์ต้องห้ามในการใช้งานในห้องเอ็มอาร์ไอ อาจจะได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิตได้ แม้แต่นักรังสีเทคนิคเองการใช้งานเครื่องนี้กับผู้ป่วยก็ยังต้องมีหลายปัจจัยที่จะต้องใส่ใจในรายละเอียด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สุงสุดจากการตรวจทั้งความปลอดภัยและความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคจากภาพเอ็มอาร์ไอที่มีคุณภาพ
ปัจจัยใดบ้างที่นักรังสีเทคนิคจะต้องให้ความสำคัญขณะทำการตรวจสแกนผู้ป่วย ผู้เขียนขอแนะนำปัจจัยหลักๆ ที่นักรังสีเทคนิคจะต้องให้ความสำคัญได้แก่
1. Scan time หรือเวลาที่ใช้ในการสแกนผู้ป่วยในแต่ละโปรโตคอล
2. Patient ให้คำนึงถึงความปลอดภัยและความสบายตัวของผู้ป่วย การจัดท่า
3. Image quality คำนึงถึงคุณภาพของภาพทั้งในแง่ของ resolution,CNR, Artifacts
รูปที่1. แสดงความสัมพันธ์ทั้งสามปัจจัย
จากรูปภาพด้านบน ผู้เขียนต้องการจะชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า ปัจจัยทั้งสามปัจจัยต่างมีผลกระทบซึ่งกันและกันไม่สามารถมุ่งเน้นไปที่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งได้ ส่วนพื้นที่สีเหลืองของการซ้อนทับกันทั้งสามวงกลมนั้น เป็นพื้นที่ที่เรียกว่า "Optimization area" หรือการปรับให้เหมาะสม ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของนักรังสีเทคนิคในการที่จะทำการปรับโปรโตคอลการตรวจให้เกิดความเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น หากนักรังสีเทคนิคทำการสแกนด้วยเวลาที่ยาวนาน (เช่น 4-5 นาทีต่อ pulse sequence) ภาพที่ได้จะมีคุณภาพดีมากในกรณีทีผู้ป่วยให้ความร่วมมือ แต่อาจจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ป่วยสักเท่าไหร่ที่จะต้องนอนฟังเสียงดังจากการสแกนนานๆ และรู้สึกร้อนจาก SAR ที่เพิ่มขึ้นตาม หากเราจำลองเหตุการณ์แบบแย่ที่สุดคือ ผู้ป่วยเมื่อยและขยับตัว ผลที่จะตามมาคือ ภาพเกิด Motion artifact ซึ่งวิธีแก้มีเพียงวิธีเดียวคือการสแกนใหม่อีกรอบ นั่นหมายความว่าแทนที่การสแกนควรจะเสร็จสิ้นภายใน 5 นาที จะกลับกลายเป็นว่าต้องใช้เวลาถึง 10 นาที ในการสแกนด้วย pulse sequence นั้น เพราะในการตรวจกับผู้ป่วยจริงๆ นั้น นักรังสีเทคนิคจะสังเกตุเห็นว่าผู้ป่วยที่ส่งเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มี พยาธิสภาพอยู่แล้ว ไม่สามารถนอนนิ่งๆเป็นเวลานานๆได้ เช่นผู้ป่วยที่มาด้วย Liver mass, cholangiocarcinoma, bone metastasis และ ผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มักจะนอนนานไม่ได้และให้ข้อมุลว่าปวดหลังขณะตรวจ หากนักรังสีเทคนิคขาดความเข้าใจในส่วนนี้ก็จะทำให้การตรวจสแกนผู้ป่วยเป็นไปด้วยความยุ่งยาก เพราะหากผู้ป่วยไม่ยอมให้ความร่วมมือขณะตรวจ นักรังสีเทคนิคจะต้องทำการปรับเทคนิคต่างๆมากมายตามมาซึ่งตามประสบการณ์ของผู้เขียนเอง การปรับพารามิเตอร์เป็นเรื่องที่ยากสำหรับนักรังสีเทคนิคที่เริ่มทำเอ็มอาร์ไอใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้นักรังสีเทคนิคจึงควรพูดคุยสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยตนเองให้มากขึ้นเพื่อจะได้ ประเมินผู้ป่วยได้แต่เนิ่นๆว่า ควรจะทำการปรับโปรโตคอลการตรวจให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด
เวลาที่ทำการสแกนจะมีพารามิเตอร์ต่างๆที่ส่งผลกับปัจจัยนั้นๆ เช่น Scan time พารามิเตอร์ที่ส่งผลกับ scan time ได้แก่ NEX หรือ Average, TR, ์Number of phase encoding หรือ จำนวนแถวของ pixel ในแนว phase เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนจะขอยกไปไว้ในบทความต่อๆไปเกี่ยวกับการปรับโปรโตคอลและ Image quality
จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วนั้น หวังว่าผู้อ่านจะเข้าใจและมองเห็นความสำคัญในบทบาทของนักรังสีเทคนิค ในการตรวจสแกนผู้ป่วยด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ โดยเฉพาะการปรับโปรโตคอลการตรวจให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้พื้นฐานในทาง MRI เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการตรวจภายใต้มาตรฐานที่ดี ที่เป็นสากล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น